
ศาลหลักเมืองบุรีรัมย์ ศาลหลักเมือง คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่ตั้งของหลักเมือง ตามธรรมเนียมพิธีของพราหมณ์, หรือความเชื่อแบบจีนหรือลัทธิเต๋า โดยก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง ศาลหลักเมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่ทำจากไม้มงคล เช่น ชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ ในลักษณะเสาปลายยอดเป็นดอกบัวตูม หรือหน้าเทวดา หรืออาจเป็นหลักหินโบราณ ใบเสมาโบราณ ที่พบในพื้นที่นั้นๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์มีเสาหลักเมืองและศาลหลักเมือง เดิมเป็นอาคารเล็กๆ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 3X4เมตร หลังคาทรงเพิง กั้นฝาทั้งสี่ด้าน มีประตูด้านหน้า ต่อมาได้มีการปรับปรุงโดยเปลี่ยนหลังคาเป็นทรงจั่ว กั้นผนังห้องด้านในด้วยไม้กระดาน มีการนำภาพเทพเจ้ากวนอู ภาพเจ้าปู่ เจ้าย่า วางติดด้านหลังศาลหลักเมืองให้กราบไหว้บูชาด้วย ต่อมาได้มีการปรับปรุงครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2512 สร้างใหม่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียวเป็นแบบทรงไทยจัตุรมุข หลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมจีน และมีการปรับปรุงใหญ่อีกครั้งในปี 2539 มีการต่อเติมหลังคาทำเป็นมณฑปมียอดฉัตร 5 ชั้น อาคารศาลหลักเมืองที่เห็นในปัจจุบันนี้ เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 ออกแบบโดยนายกิจจา อยู่โพธิ์ สถาปนิกกรมศิลปากร เน้นลักษณะให้เป็นเอกตาลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เป็นเมืองปราสาทหิน และอัญเชิญรูปเคารพต่างๆ ไปไว้ในศาลเจ้าที่สร้างขึ้นใหม่ในบริเวณเดียงกัน แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2552 ทำพิธีขึ้นศาลใหม่ในปี พ.ศ. 2555 ลักษณะเด่นของเสาหลักเมืองบุรีรัมย์ มีเสาหลักเมือง 2 ต้น ในที่เดียวกัน เสาต้นหนึ่งเอียงมียอดแหลม สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นต้นแรก เสาต้นที่สองตั้งตรงยอดมน สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นเมื่อเมืองบุรีรัมย์ยกฐานะเป็นจังหวัดช่วง พ.ศ. 2441 ถึง พ.ศ. 2444
|
![]() ![]() ![]() ![]() |